ทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Edward Thorndike)

ทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์

เป็นหนึ่งในทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยม และผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองการทดลองที่สำคัญ ด้วยการจับแมวใส่ในกรงแล้วให้แมวหาทางออกเองด้วยการลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ นั่นก็คือ Edward Lee Thorndike ซึ่งต่อมา ทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ นำไปสู่ทฤษฎีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขการกระทำ (Condintioning Operant) ของ Skinner นั่นเอง

Edward Lee Thorndike (ค.ศ.1874-1949) – นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน

ทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์

ทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Thorndike)

การเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (Stimulus: S) กับการตอบสนอง (Response: R) มีหลักการพื้นฐาน ก็คือ “การเรียนรู้ เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง” โดยที่การตอบสนองนั้นจะออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ หลายรูปแบบ จนกว่าจะพบรูปแบบที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด โดยธอร์นไดค์เรียกการตอบสนองนี้ว่า “การลองผิดลองถูก” (Trial and Error) จากผลการทดลองเกี่ยวกับทฤษฎีการเชื่อมโยงที่ได้นี้ ทำให้ Thorndike สามารถสรุปกฎการเรียนรู้ออกเป็น 2 กฎ ดังนี้

กฎการเรียนรู้หลัก 3 ข้อ (The 3 Laws of Learning)

1. กฎแห่งความพร้อม (Readiness) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้เรียนมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ กล่าวคือ เมื่อผู้เรียนมีความพร้อมจะกระทำหรือเรียนรู้แล้ว และได้กระทำหรือได้เรียนรู้ตามความต้องการ ผู้เรียนผู้นั้นจะเกิดความพึงพอใจจนทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น 

อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้กระทำหรือเรียนรู้ตามความต้องการ ผู้เรียนผู้นั้นก็จะเกิดความไม่พอใจหรือ ไม่สบายใจ ส่งผลให้เกิดความเครียดและไม่สามารถเรียนรู้ได้ดีเต็มประสิทธิภาพ

2. กฎแห่งการฝึกหัด (Exercise) แบ่งเป็นกฎแห่งการใช้ (Law of Use) คือ เมื่อผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้ว หากได้รับการฝึกฝนหรือกระทำบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญและกลายเป็นความเคยชิน จะทำให้การเรียนรู้นั้นคงทนถาวร ยิ่งฝึกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเชี่ยวชาญมากขึ้นเท่านั้น 

และกฎแห่งการไม่ใช้ (Law of Disuse) คือ พฤติกรรมใด ๆ ก็ตาม หากมีการเว้นระยะเวลานานหรือขาดการฝึกฝนนานเกินไป ไม่ได้กระทำซ้ำบ่อย ๆ ทักษะนั้นก็จะไม่คงทนถาวร ประสิทธิภาพลดลง และอาจลืมได้ในที่สุด

3. กฎแห่งผลการตอบสนอง (Effect) พฤติกรรมใดก็ตามเมื่อตอบสนองหรือกระทำแล้วได้รับความสุข ความพึงพอใจ และความภูมิใจ ผู้เรียนก็อยากที่จะกระทำพฤติกรรมนั้นต่อไป กลับกันหากพฤติกรรมนั้นทำแล้วได้รับความทุกข์หรือไม่มีความสุข ผู้เรียนก็จะลดการกระทำพฤติกรรมนั้นลง และในที่สุดก็ไม่กระทำพฤติกรรมนั้นอีกเลย

กฎการเรียนรู้ย่อย 5 ข้อ (Subordinate Laws of Learning)

1. กฎแห่งการแสดงพฤติกรรมตอบสนองหลายรูปแบบ (Multiple Response) เมื่อผู้เรียนพบสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหา ผู้เรียนจะแสดงพฤติกรรมตอบสนองออกมาหลายรูปแบบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพบพฤติกรรมที่สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้อง และในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหานั้น ในครั้งต่อ ๆ ไป ผู้เรียนจะลดพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมออก จนเหลือแต่พฤติกรรมที่ถูกต้องและเพียงวิธีเดียวในที่สุด

2. กฎแห่งการเตรียมพร้อมหรือเจตคติ (Set of Attitude) ผู้เรียนที่มีความพร้อมหรือมีเจตคติที่ดีจะสามารถเรียนรู้และประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าผู้เรียนที่ขาดความพร้อมหรือมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอน ครูจึงควรมีการเตรียมความพร้อมและสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนให้กับผู้เรียนก่อนเสมอ

3. กฎการเลือกพฤติกรรมตอบสนอง (Law of Partial Activity) ผู้เรียนจะเลือกแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อใช้ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นปัญหา และเมื่อค้นพบพฤติกรรมตอบสนองที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาได้แล้วก็จะหยุดพฤติกรรมลองผิดลองถูกลง ในบางครั้งวิธีการแก้ปัญหามีหลายวิธี ผู้เรียนก็จะเลือกวิธีที่สะดวกและเสียเวลาน้อยที่สุดมาใช้

4. กฎแห่งการตอบสนองโดยอาศัยประสบการณ์ที่มีความคล้ายคลึงหรือเกี่ยวข้องกัน (Law of Response Analogy) เมื่อผู้เรียนประสบกับปัญหา ผู้เรียนผู้นั้นมีแนวโน้มที่จะนำเอาประสบการณ์จากการแก้ปัญหาในอดีตที่มีความคล้ายคลึง ใกล้เคียง หรือเกี่ยวข้องกันมาใช้ในการแก้ปัญหา ดังนั้นในการเรียนรู้ หากเป็นเรื่องที่คล้ายคลึงกับเรื่องที่เรียนมาแล้ว ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีและเร็วกว่าเรื่องที่ยังไม่เคยเรียนรู้มาเลย

5. กฎแห่งการถ่ายโยงจากสิ่งเร้าเก่าไปสู่สิ่งเร้าใหม่ (Law of Association Shifting) ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายและเร็วขึ้น ถ้าผู้เรียนผู้นั้นมองเห็นสิ่งเร้าใหม่และสิ่งเร้าที่เคยประสบมามีความสัมพันธ์กันจะทำให้การกระทำสิ่งเร้าใหม่กระทำได้ง่ายขึ้น เช่น หากนักเรียนเคยใช้สมาร์ทโฟนมาแล้ว ก็จะเรียนรู้วิธีการพิมพ์คีย์บอร์ดบนคอมพิวเตอร์ได้เร็วกว่าปกติ เป็นต้น 

ทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ โดยสรุป

Thorndike (1905) นำเสนอแนวคิดเรื่องการเสริมแรงและเป็นคนแรกที่นำหลักการทางจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้

งานวิจัยของเขานำไปสู่ทฤษฎีและกฎแห่งการเรียนรู้มากมาย เช่น ทฤษฎีการวางเงื่อนไขการกระทำของ Skinner (1938) 

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Thorndike ได้ขับเคลื่อนจิตวิทยาเชิงเปรียบเทียบมากว่า 50 ปี และยังมีอิทธิพลต่อนักจิตวิทยานับไม่ถ้วนในช่วงเวลานั้น กระทั่งถึงทุกวันนี้

ติดตามเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ

  TRENDING
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของ สกินเนอร์ (Operant Conditioning – Skinner)
4 hours ago
ทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Edward Thorndike)
2 days ago
คะแนน t-score คือ? สูตร Excel ตาราง
4 days ago
โรคผมร่วงเป็นหย่อม – ALOPECIA คือ ?
6 months ago
Hologram คือ อะไร? (โฮโลแกรม)
6 months ago
Next
Prev