Generation และการแบ่งช่วงอายุ

Generation คืออะไร?

Generation — เจเนเรชั่นของคน หรือการแบ่งกลุ่มประชากรด้วยหลักประชากรศาสตร์ (Demography) ของนักเศรษฐศาสตร์ แบ่งประชากรออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ Baby Boomer, Generation X, Generation Y, Generation Z และ Generation Alpha โดยใช้อายุหรือปีเกิดเป็นเครื่องมือในการแบ่งกลุ่ม ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีเจนก่อนหน้าอีก 3 เจน ได้แก่ Lost Generation, G.I. Generation และ Silent Generation ซึ่งมักไม่ถูกพูดถึงแล้ว เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้วนั่นเอง

ที่มาของ Generation

Generation แปลว่า รุ่น, การให้กำเนิด และยุคสมัย นอกจากนี้ตามคำกล่าวของ Mannheim เจ้าของทฤษฎี Theory of Generations ที่กล่าวว่า อิทธิพลจากบริบททางสังคมและทางประวัติศาสตร์ คนในยุคหนึ่งๆ ที่เกิดและเติบโตขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ใหญ่ๆ บางอย่างร่วมกันก็จะมีลักษณะอย่างหนึ่ง และลักษณะนั้นๆ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง จะก่อให้เกิดพื้นฐานของประสบการณ์ร่วมกัน กำหนดทิศทางในอนาคตของโลกใบนี้ และหล่อหลอมคนรุ่นต่อไปในอนาคตนั่นเอง

ทำไมต้องแบ่ง Generation ?

การแบ่ง Generation ก็เป็นเหมือนการจำแนกกลุ่มคนออกตามช่วงอายุ หรือปีเกิด ทำให้สามารถทราบถึงพฤติกรรม แนวโน้มการใช้ชีวิต ความคิดและทัศนคติ ผู้คนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ในหลากหลายวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจผู้คนรอบข้าง การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าตามวัตถุประสงค์ทางการตลาด การทำงานร่วมกันของกลุ่มคนที่มีหลากหลายช่วงอายุภายในองค์กร เป็นต้น
  TRENDING
ใบงานวิทยาศาสตร์ ประถม-มัธยม โหลดฟรี
3 days ago
ใบงานคณิตศาสตร์ ประถม-มัธยม โหลดฟรี
2 days ago
ใบงานภาษาไทย (Thai Worksheet) โหลดฟรี
1 day ago
RT-PCR คือ? ตรวจโควิด แบบไหนดี?
18 hours ago
Future Continuous Tense คือ? หลักการใช้ ตัวอย่าง
8 hours ago
Next
Prev

มาทำความรู้จัก แต่ละ “เจเนอเรชั่น” กันเลยดีกว่า

1. Baby Boomer (พ.ศ. 2489 – 2507)

คนกลุ่มที่เกิดช่วงนี้ หรือเบบี้บูมเมอร์ เติบโตมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงแล้ว และสถานการณ์บ้านเมืองก็เพิ่งผ่านการสู้รบมาหมาด ๆ และได้รับความเสียหายอย่างหนัก ดังนั้นประชากรที่หลงเหลืออยู่ในแต่ละประเทศ ก็ต้องร่วมมือกันเร่งฟื้นฟูประเทศของตัวเองในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือการเมืองให้กลับมาแข็งแกร่งและมั่นคงโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม พิษของสงครามที่ผ่านพ้นไปที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ประชากรมากมายถูกเกณฑ์ไปทำสงคราม ทำให้แรงงานคนของประเทศจึงไปเป็นจำนวนมาก ประเทศเหล่านี้จึงขาดแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศ จึงมีค่านิยมทางสังคมว่าจะต้องมีลูกหลาย ๆ คน เพื่อสร้างแรงงานขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติ และเป็นที่มาของคำว่า “เบบี้บูมเมอร์” นั่นเอง

2. Generation X (พ.ศ. 2508-2522)

ต่อเนื่องจากค่านิยมในยุคเบบี้บูมเมอร์ที่มีลูกกันมาก จึงส่งผลให้ทั่วโลกมีเด็ก ๆ เกิดมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า หากยิ่งมีค่านิยมแบบเดิมต่อไปเรื่อย ๆ ทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้จะไม่เพียงพอและถึงขั้นขาดแคลนได้ในที่สุด

ดังนั้น ยุคเจน X (Generation X) จึงถูกบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นการโต้แย้ง และยับยั้งค่านิยมเก่าจากยุคเบบี้บูมเมอร์นั่นเอง คน Gen-X ให้ความสำคัญกับความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น มีการควบคุมอัตราการเกิดของประชากร ซึ่งหลากหลายประเทศก็เริ่มก่อเกิดแนวคิดการรณรงค์ให้คนมีลูกได้เพียง 1 คนที่เริ่มต้นในยุคนี้

Generation

3. Gen Y (พ.ศ. 2523 – 2540)

ถัดจากยุค Gen-X ก็คือ ยุคเจน Y (Generation Y) หรือเรียกกันอีกชื่อก็คือยุค Millennials ซึ่งก็คือคนที่เกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2540 คนกลุ่มนี้ได้รับการเติบโตขึ้นมาขึ้นมาในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลง และค่านิยมที่แตกต่างระหว่างรุ่นปู่ย่าตายาย (Baby Boomer) กับ รุ่นพ่อแม่ (Gen X) ผสานเข้ากับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ชนิดก้าวกระโดด เช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ตที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ดังนั้น ในยุคปัจจุบัน คน Gen Y จึงถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนโลกใบนี้ เป็นวัยที่เพิ่งเรียนจบเข้าทำงาน ไปสู่วัยกลางคนที่เริ่มสร้างครอบครัว เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่กำลังกำหนดทิศทางของมนุษยชาตินั่นเอง

4. Gen Z (พ.ศ. 2540-2552)

Generation-Z คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2540-2552 คนกลุ่มนี้จะมีความคิดและทัศนคติใกล้เคียงกับคน Gen Y เนื่องจากเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีบางอย่าง ตัวอย่างเช่น Facebook, Google และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเริ่มบุกเบิกในยุค Gen Y และปัจจุบันกลุ่มคน Gen Z ก็ยังใช้สิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวัน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่น Gen-Z แตกต่างจากรุ่นอื่น ๆ ที่ผ่านมา คือ คนกลุ่มนี้เติบโตมากับการเลี้ยงดูที่แตกต่างออกไป เป็นวิถีชีวิตสมัยใหม่ของสภาพครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ต่างต้องออกไปทำงานทั้งคู่ เพื่อแบกรับค่าครองชีพที่สูงและมีการแข่งขันกันมากขึ้น คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จึงมักได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ของตัวเอง

5. Generation Alpha (พ.ศ.2553 ขึ้นไป)

Gen Alpha คือ คำนิยามล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่เกิดตั้งแต่พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป เป็นกลุ่มคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีการเรียนรู้รวดเร็วในด้านเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันคนกลุ่มนี้จะยังมีอายุน้อยมากๆอยู่ โดยในปัจจุบันเริ่มมีค่านิยมที่ย้อนกลับไปคล้ายคลึงกับยุค เจน X คือคนเริ่มตระหนักถึงการมีลูกน้อยลงหรือไม่มีเลย เนื่องมาจากการไตร่ตรองของพ่อแม่ในมิติต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความพร้อม สภาพการเงิน สภาพสังคม รวมถึงแนวทางการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป (มีอิสระในการใช้ชีวิตน้อยลง)

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 ประชากรเจนอัลฟ่าจะยังมีสูงถึงกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก และในช่วงกลางทศวรรษ 2030 เจนอัลฟ่าก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีความเป็นพลเมืองโลกมากกว่าคนยุคก่อน ผ่านเทคโนโลยีสื่อสารที่มีการเชื่อมโยงทั่วโลก และก่อเกิดกลุ่มอาชีพใหม่ ๆ มากขึ้น

สรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับข้อมูลเรื่อง Generation และการแบ่งช่วงอายุ ที่กระผมมองว่ามีประโยชน์มากๆ และได้นำมาฝากกันในวันนี้ หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ กระผมหวังว่าคอนเทนท์นี้คงจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ