สรุปสาระสำคัญ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

พรบ.การศึกษาแห่งชาติ หรือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 4 (พ.ศ.2562)

มีทั้งหมด 9 หมวด 78 มาตรา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2542 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 4 มีผลบังคับใช้วันที่ 2 พฤษภาคม 2562

คำนิยามต่างๆ ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

การศึกษา

หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอด การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์ จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

การศึกษาขั้นพื้นฐาน

หมายถึง การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา

การศึกษาตลอดชีวิต

หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ นอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ผู้สอน

หมายถึง ครูและอาจารย์ในสถานศึกษาระดับต่างๆ

ครู

หมายถึง บุคลากรวิชาชีพ ทำหน้าที่หลักทาง ด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน

คณาจารย์

หมายถึง บุคลากรซึ่ง ทำหน้าที่หลักทาง ด้านการสอนและการวิจัย ในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาของรัฐและเอกชน

บุคลากรทางการศึกษา

หมายถึง ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้สนับสนุนการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการเรียนการสอน การนิเทศ และบริหารการศึกษาในหน่วยงานต่างๆ

หมวด 1: ความมุ่งหมายและหลักการ ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 6

“การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

มาตรา 8

การศึกษาให้ยึดหลัก ตลอด-ร่วม-ต่อ

  1. เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน
  2. สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
  3. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

มาตรา 9

การจัดระบบ โครงสร้าง และกระบวนการจัดการศึกษา ให้ยึดหลักดังนี้

  1. มีเอกภาพนโยบายหลากหลายในการปฏิบัติ
  2. มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  3. มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา จัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับทุกประเภท
  4. มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
  5. ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา
  6. การมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น

หมวด 2: สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 10

บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน “ไม่น้อยกว่า 12 ปี” ที่รัฐต้องจัดให้ “อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ” “โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”

ผู้ที่บกพร่อง ต้องจัดให้มีสิทธิและโอกาสในการรับการศึกษาพื้นฐาน “เป็นพิเศษ”

บุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ ให้จัดด้วย “รูปแบบที่เหมาะสม” โดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น

ผู้พิการ ให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือเมื่อพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มาตรา 11

บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแล ได้รับการศึกษาภาคบังคับตามมาตรา 17 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

หมวด 3: ระบบการศึกษา ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 15

การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ

  1. ในระบบ (Formal Education) กำหนดจุดหมาย วิธีการ หลักสูตร เวลา การวัดผลประเมินผลที่ “แน่นอน”
  2. นอกระบบ (Non-formal Education) มีความ “ยืดหยุ่น” โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
  3. ตามอัธยาศัย (Informal Education) ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง “ตามความสนใจ” ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ และแหล่งความรู้อื่น

สถานศึกษา อาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้

มาตรา 16

การศึกษาในระบบและนอกระบบ มี 2 ระดับ

  1. การศึกษาขั้นพื้นฐาน: จัดไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา
  2. การศึกษาระดับอุดมศึกษา: แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญา และระดับปริญญา

มาตรา 17

ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปี

ให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ

ย่างเข้าปีที่ 7 จนถึงย่างเข้าปีที่ 16

มาตรา 18

การจัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้จัดในสถานศึกษาดังต่อไปนี้

  1. สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
  2. โรงเรียน
  3. ศูนย์การเรียน

หมวด 4: แนวการจัดการศึกษา ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 22

การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

หมวด 5: การบริหารและการจัดการศึกษา ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

การบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ

ให้กระทรวงศึกษาธิการมีองค์กรหลักที่เป็นคณะบุคคลในรูปสภาหรือคณะกรรมการ 3 องค์กร

  1. สภาการศึกษา
  2. คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  3. คณะกรรมการการอาชีวศึกษา

สำนักงานของสภา/คณะกรรมการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นกรม

แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2562)

การบริหารและการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิ์จัดการศึกษาในระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อมความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น โดยให้กระทรวงเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อม

การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชน

ให้สถานศึกษาเอกชนตามมาตร 18(2) เป็นนิติบุคคล

ให้สถานศึกษาเอกชนจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภท

หมวด 6: มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 47

ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาระดับอุดมศึกษา ประกอบด้วยการประกันคุณภาพภายใน และการประกันคุณภาพภายนอก

มาตรา 48

ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จัดทำรายงานประจำปีเสนอหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อสาธารณชน

มาตรา 49

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

มาตรา 51

หากผลการประเมินไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ให้ สมศ. หน่วยงานต้นสังกัดเพื่อให้สถานศึกษาปรับปรุงแก้ไข หากมิได้ดำเนินการ ให้สมศ. รายงานต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไข

หมวด 7: ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

คณาจารย์

หมายถึง บุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาีะดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาของรัฐและเอกชน แต่ไม่รวมถึงบุคลากรซึ่งสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา

องค์กรวิชาชีพครู

ให้มีองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งของสถานศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ และระดับเขตพื้นที่ เป็นข้าราชการในสังกัดองค์กรกลางการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู

ยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลการศึกษาและสถานศึกษา

หมวด 8: ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 59

ให้สถานศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุและทรัพย์สินอื่น

บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่สถานศึกษาของรัฐที่เป็นิติบุคคลได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ หรือซื้อ แลกเปลี่ยนจากรายได้ของสถานศึกษา ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถานศึกษา

บรรดารายได้และผลประโยชน์ของสถานศึกษาของรัฐ ให้สถานศึกษาสามารถจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด

หมวด 9: เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ

รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย ทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมตามที่จำเป็น

รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการผลิตและพัฒนาแบบเรียน ตำรา หนังสือวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือทางวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ วัสดุอุปกรณ์อื่น โดยเร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตโดยเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้

ติดตามเนื้อหาอื่นๆ ได้ที่ Jahnnoom.com